บ้านโมเดิร์นทรงกล่อง 2 ชั้น
บ้านโมเดิร์นทรงกล่อง 2 ชั้น บ้านโมเดิร์น เรียบเท่ของครอบครัวสถาปนิกอย่าง คุณพัชระ วงศ์บุญสิน และคุณอรณิชา ดุริยะประพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทพอ สถาปัตย์ จำกัด เรียกความสนใจของเราได้ตั้งแต่แรกเห็น และยิ่งทวีความน่าสนใจมากขึ้นไปอีกเมื่อเจ้าของบ้านบอกกับ room ว่า “บ้านหลังนี้ผมไม่ได้สร้างมาเพื่อถ่ายรูป”
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: POAR
“บ้านคุณพาณ” บ้านโมเดิร์น ซึ่งมีที่มาจากชื่อของลูกชายของผู้ออกแบบเอง ที่นี่ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 2 ปี ตัวบ้านมีขนาด 350 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนที่ดิน 400 ตารางเมตร ถมสูงจากถนน 70 เซนติเมตร เนื่องจากพื้นที่แถวนี้เคยถูกน้ำท่วมมาก่อน ทั้งยังตั้งใจสร้างบ้านนี้บนที่ดินผืนเดียวกับครอบครัวของคุณอรณิชา จากเดิมที่เคยตั้งใจจะออกแบบบ้านให้มีขนาด 3 ชั้น ต่อมาทั้งคู่ได้ปรับแบบระหว่างก่อสร้างให้เหลือเพียง 2 ชั้น เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้อยู่ใกล้ชิดกัน อย่างไรก็ตามทั้งสองได้วางแผนต่อเติมโครงสร้างเผื่อไว้แล้ว กรณีที่ต้องการต่อเติมพื้นที่ชั้น 3 สำหรับลูก ๆ ในอนาคต
อย่างที่คุณพัชระบอกกับเราตั้งแต่แรกว่า ไม่ได้สร้างบ้านเพื่อถ่ายรูป ทุกอย่างจึงไม่ได้เน้นที่ความสวยงาม แต่เน้นไปที่ฟังก์ชันการใช้งานเป็นหลัก ส่วนรูปทรงนั้นถือเป็นผลพลอยได้ที่เกิดจากการออกแบบฟังก์ชัน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากห้องนอนขนาดใหญ่ “พิเศษ” กว่าห้องนอนมาตรฐานทั่วไป เพราะมีความกว้างถึง 3 เมตร ยาว 13 เมตร และมีความสูงจากพื้นถึงฝ้าเพดาน 2.30 เมตร วางตัวหันหน้าสู่ทิศเหนือซึ่งมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการพักผ่อน ทั้งในแง่ของแสงแดด อุณหภูมิ และทัศนียภาพ
โดยมีการออกแบบขนาด การเลือกใช้วัสดุ และตำแหน่งของห้องมาช่วยเสริมเพื่อสร้างประสบการณ์การอยู่อาศัยที่สมบูรณ์แบบที่สุดกว่าจะลงตัวได้แบบนี้ คุณพัชระเล่าว่า ต้องมีการปรับแบบอยู่หลายครั้ง ทดลองไปพักโรงแรมและเยี่ยมชมโชว์รูมรถยนต์มาก็หลายแห่ง เพื่อศึกษาโครงสร้าง สเปซ และรูปแบบก่อนนำสิ่งที่ได้พบเห็นนั้นมาปรับใช้กับสิ่งที่ออกแบบไว้
นอกจากจะมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษแล้ว ห้องนอนนี้ยังแอบซ่อนอีกหนึ่งความพิเศษไว้ นั่นคือ คานเหล็กหนา 35 เซนติเมตรที่เชื่อมต่อกันรอบบ้านเสมือนเป็นกรอบรูปขนาดใหญ่ ล้อมรอบสวนสีเขียวไว้ตรงกลาง เมื่อตื่นนอนตอนเช้าจึงสามารถมองเห็นวิวยอดไม้สีเขียวผ่านผนังกระจกใสยาวถึง 13 เมตรได้แบบพานอรามาราวกับเป็นองค์ประกอบหนึ่งของห้องนอน นอกจากนี้คานเหล็กที่เห็นไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อความสวยงามอย่างที่เราเข้าใจผิดไปในทีแรก แต่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับส่วนต่อขยายในอนาคตทั้งการต่อเติมห้อง และสะพานทางเดินเชื่อมชั้นสองระหว่างบ้านคุณพัชระ และบ้านเดิมของครอบครัวคุณอรณิชาที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน
เมื่อห้องนอนลงตัวแล้ว ฟังก์ชันอื่น ๆ ของบ้านก็ตามมา โดยยังคงเลือกวางตำแหน่งห้องต่าง ๆ โดยพิจารณาจากทิศทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์และลมเป็นหลักเพื่อให้บ้านสามารถใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้สูงสุดเช่น การวางตำแหน่งห้องน้ำ ห้องเก็บของ และส่วนซ่อมบำรุงไว้ทางทิศตะวันตก เพื่อให้ความร้อนจากแสงแดดในช่วงบ่ายช่วยลดความอับชื้น
นอกจากนี้พื้นที่ชั้นล่างซึ่งเป็นส่วนที่สมาชิกในครอบครัวชอบมาใช้เวลาด้วยกัน ยังดึงแนวคิดพื้นที่ใต้ถุนบ้านมาปรับใช้ โดยออกแบบให้ฝ้ามีความสูงจากพื้นถึง 2.80 เมตร ช่วยให้ลมพัดผ่านได้สะดวกจนแทบไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ สเปซมีความโปร่งโล่งไม่อึดอัดและไม่ลืมใส่ใจรายละเอียดของช่องเปิดเป็นพิเศษ ทั้งการออกแบบรูปทรง ขนาด และตำแหน่งของหน้าต่างให้ตอบโจทย์กับทิศทางลม สามารถดึงแสงธรรมชาติเข้ามาในบ้านได้อย่างเพียงพอ
“ผมไม่มีคอนเซ็ปต์ในการออกแบบบ้าน” เมื่อเราถามถึงบทสรุปในการออกแบบบ้านหลังนี้ คุณพัชระให้เหตุผลว่า
“ผมอยากสร้างบ้านที่ให้ความรู้สึก ไม่อยากให้มีคอนเซ็ปต์ บ้านเท่ ๆ ไม่ใช่แค่มองจากภายนอกแล้วเห็นว่าสวยเท่านั้น แต่เมื่อเข้ามาภายในบ้านจะรู้สึกได้ถึงตัวตนเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับตัวเราและครอบครัวจริง ๆ เพราะหน้าตา (ของบ้าน) ไม่ได้สำคัญเมื่อเทียบกับการอยู่แล้วมีความสุขนี่ต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ”
เจ้าของ : คุณพาณ วงศ์บุญสิน, คุณอรณิชา ดุริยะประพันธ์, คุณพัชระ วงศ์บุญสิน
ออกแบบ – ตกแต่ง และแลนด์สเคป : P.O.AR (Patchara + Ornnicha ARchitecture)
ออกแบบโครงสร้าง : เบสิก ดีไซน์
ออกแบบไลติ้ง : Gooodlux Design Consultancy Co., Ltd.
เรื่อง : wanoi
ภาพ : ศุภกร, นันทิยา
สไตล์ : ประไพวดี
เรียบเรียง : Parichat K.
บ้านอิฐ หลังนี้คือตัวอย่างงานสถาปัตยกรรมที่เล่นกับเรื่องราวของอดีตและปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะในแง่ขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม การออกแบบความเชื่อมโยงของพื้นที่ภายในบ้าน หรือการสอดประสานเรื่องราวผ่านการตกแต่ง
ที่ตั้งของบ้านอยู่ในย่าน Petaling Jaya รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย แม้จะเป็นย่านที่มีบ้านเดี่ยวอยู่เยอะ แต่ก็ไม่ได้มีพื้นที่เหลือเฟือขนาดจะสร้างบ้านที่กินบริเวณกว้างๆได้ Dr.Tan Loke Mun ผู้ออกแบบ ได้รับโจทย์จาก Mr. Kenneth Koh เจ้าของบ้าน ให้รื้อบ้านเดิมออกและสร้างบ้านหลังใหม่ขนาดสูงสามชั้นแทน
จุดเด่นของบ้านหลังนี้คือผนังกระเบื้องดินเผาที่เห็นได้ชัดเจนจากภายนอก ซึ่งแท้จริงแล้วคือหลังคาของบ้านเดิมนั่นเอง “ระหว่างที่รื้อบ้านเดิม เราก็พบว่ากระเบื้องหลังคาชุดนี้เป็นงานฝีมือจากสมัยที่มาเลเซียยังนำเข้ากระเบื้องหลังคาจากกัลกัตตา ประเทศอินเดีย จึงรื้อเก็บไว้อย่างดี และนำมาใช้เป็นผนังที่สร้างความเป็นส่วนตัว รวมถึงป้องกันความร้อนให้ตัวบ้าน นอกจากนี้ผิวสัมผัสของกระเบื้องดินเผาเก่าก็สร้างความเชื่อมโยงกับวัสดุในบ้านได้เป็นอย่างดีด้วย หากต้องการสิ่งที่จะดูดีไปได้นานๆ และเป็นสิ่งที่อยู่เหนือกาลเวลาด้วย ก็ทำให้เราตัดสินใจเลือกใช้วัสดุดั้งเดิมของบ้าน และเติมเต็มด้วยอิฐมอญ คอนกรีต และเหล็ก”
การออกแบบบ้านหลังนี้เริ่มจากการจัดการพื้นที่ในลักษณะ “กล่อง” มีพื้นผิวภายนอกเป็นผนังกระเบื้องหลังคาดินเผาเดิม โดยติดตั้งบนโครงสร้างเหล็กที่ยึดกระเบื้องทุกแผ่นในแนวตั้ง สามารถเปิด-ปิดการรับแสงได้อย่างอิสระ ชุดโครงสร้างเหล็กนี้ต่อเนื่องจากโครงสร้างหลักของบ้าน ซึ่งทำให้เกิดการเชื่อมโยงพื้นที่“ภายใน” และ “ภายนอก” ที่สอดรับกันอย่างได้จังหวะลงตัว
ผู้ออกแบบเลือกที่จะให้พื้นที่ในแต่ละส่วนของบ้านมีอารมณ์แบบ “ภายนอก” สอดแทรกอยู่ ทั้งการเปิดผนังกระจกรับบรรยากาศของสวน การเลือกใช้ไม้กระถางในร่มที่เชื่อมโยงกับสวนภายนอก และการเปิดพื้นที่ Double Volume ให้สูงโปร่ง เมื่อแสงแดดอ่อนๆสาดเข้ามาในส่วนรับแขก ผนวกกับลมแผ่วๆจากพัดลมเพดาน จึงให้ความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ในสวน แม้จะเป็นห้องปรับอากาศก็ตามที
นอกจากการเล่นกับการจัดวางพื้นที่ให้สอดรับกันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่บ้านหลังนี้ทำได้ดีก็คือการสร้างบรรยากาศที่อยู่เหนือ “กาลเวลา” ด้วยความที่เจ้าของบ้านมีพื้นเพมาจากเมืองมะละกา จึงเลือกตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์สไตล์จีนที่ทำโดยช่างชาวมะละกา ซึ่งมีทั้งงานเก่าสะสมและงานร่วมสมัย โดยเฉพาะภาพเขียนที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองนี้ที่อยู่ในความทรงจำของเจ้าของบ้าน เมื่อจัดวางอยู่ท่ามกลางผนังปูนเปลือยและอิฐแดง ก็ช่วยเติมเต็มบรรยากาศของบ้านนี้ให้ดูคล้ายตึกแถวในมะละกา แต่เป็นบริบทที่มีความร่วมสมัยขึ้น
ไม่บ่อยนักที่เราจะพบบ้านในเมืองใหญ่ที่ให้ความรู้สึกปลอดโปร่ง เป็นธรรมชาติ และเต็มเปี่ยมด้วยเรื่องราว ความลงตัวของการใช้วัสดุเก่าและใหม่ การเลือกใช้พื้นผิวของวัสดุที่ล้อรับกับพื้นเพของเจ้าของบ้าน ทำให้บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งไร้กาลเวลาอย่างแท้จริง อย่างน้อยเจ้าของบ้านก็น่าจะส่งมอบความทรงจำของเขาแก่รุ่นต่อไปของครอบครัวได้ผ่านทางบ้านหลังนี้
เจ้าของ : Mr. Kenneth Koh
ออกแบบ : DRTAN LM ARCHITECT by Dr.Tan Loke Mun
เรื่อง : “วุฒิกร สุทธิอาภา”
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
ประสานงาน : Mr.Lesvin Diong
ป้ายกำกับ:บ้าน